เราควรนำเร็กกูเลเตอร์ไปเข้าศูนย์บริการเมื่อไร?

167

เราควรนำเร็กกูเลเตอร์ไปเข้าศูนย์บริการเมื่อไร? คำตอบหรือคำแนะนำที่เรามักจะได้ยินกัน อาจมีหลากหลายแนว เช่น

  • ตามคำแนะนำของผู้ผลิต แนะนำว่าควรนำเร็กกูเลเตอร์มาล้างทำความสะอาดและเปลี่ยนอะไหล่ เป็นประจำทุกปี
  • ควรส่งศูนย์บริการทุกปี เพื่อล้างทำความสะอาด แต่เปลี่ยนอะไหล่ 2 ปีครั้งก็ได้
  • ไม่ต้องทำอะไรเลยก็ได้ เคยใช้มาตั้งนานแล้ว ยังไม่เป็นอะไรเลย
  • เมื่อไม่ได้ดำน้ำมาเป็นเวลานาน เช่น 2 ปีขึ้นไป ควรนำเร็กกูเลเตอร์ไปให้ศูนย์บริการตรวจสอบสภาพ และถามความเห็นจากช่างว่าต้องทำอะไรหรือไม่

คำแนะนำเหล่านั้นล้วนมีเหตุผลที่แตกต่างกันไป แต่สำหรับเรา วิธีที่ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุด ก็คือการนำมาล้างทำความสะอาดและเปลี่ยนอะไหล่ใหม่ทุกๆ ปี เพราะวิธีนี้ เราจะมั่นใจได้ว่า การออกทริปใน 1 ปีข้างหน้านี้ เราจะไม่ต้องห่วงกังวลเรื่องของเร็กกูเลเตอร์เลย

ก่อนอื่นขออธิบายความหมายคำต่างๆ เหล่านี้เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน

  • Regulator Service หมายถึง การบริการต่างๆ ที่เกี่ยวกับเร็กกูเลเตอร์ ตั้งแต่การทดสอบการทำงานทั่วไป การปรับตั้งค่าความหนักเบาในการใช้งาน ไปจนถึงการซ่อมบำรุง ถอดล้าง (overhaul) เปลี่ยนอะไหล่ ตั้งค่าใหม่ พูดง่ายๆ ว่า คือการบริการทุกอย่างที่จะทำให้เร็กกูเลเตอร์อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
  • Overhaul หมายถึง การถอดชิ้นส่วนทุกชิ้น ออกมาล้างทำความสะอาด เปลี่ยนอะไหล่ชิ้นส่วนต่างๆ และประกอบกลับเหมือนเดิม พร้อมกับตั้งค่าแรงดัน และการตั้งค่าแรงหายใจต่างๆ ให้เป็นไปตามที่ผู้ผลิตกำหนดไว้
  • Service Kit หมายถึง อะไหล่ต่างๆ ที่ผู้ผลิตจัดรวมไว้เป็นชุด เพื่อเปลี่ยนใหม่ไปพร้อมกับการ overhaul
    เราเลือกวิธีการ Service Regulator ได้กี่แบบ
    โดยกว้างๆ เราสามารถเลือกใช้บริการได้ 3 แบบ ซึ่งแต่ละแบบ ก็จะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป
  • Overhaul เปลี่ยน Service Kit ทั้งชุด เป็นการถอดชิ้นส่วนออกมาล้างทำความสะอาด และเปลี่ยนอะไหล่ตาม Annual Service Kit ของแบรนด์นั้นๆ ข้อดีคือ ในระยะประมาณ 1 ปีข้างหน้า จะไม่มีปัญหาอะไรในการใช้งาน ข้อเสียคือ ค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ตั้งแต่ 3,500-5,500 บาท แล้วแต่ราคา Service Kit ของเร็กกูเลเตอร์รุ่นและแบรนด์นั้นๆ

Overhaul และเปลี่ยนอะไหล่เฉพาะชิ้นส่วนที่เสื่อมสภาพเป็นการถอดชิ้นส่วนออกมาล้างทำความสะอาด โดยช่างจะเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจเลือกว่าอะไหล่ชิ้นไหนที่ควรจะต้องเปลี่ยน
ข้อดีคือ ค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมาก ประมาณ 1,500-3,000 บาท ขึ้นอยู่กับสภาพของเร็กกูเลเตอร์ตัวนั้นๆ แต่ข้อเสียคือ ไม่สามารถรับประกันได้ว่า เมื่อนำไปใช้งานแล้วจะไม่มีปัญหา เพราะอุปกรณ์ชิ้นอื่นๆ ก็อาจเสื่อมสภาพจนถึงจุดที่มีปัญหาหลังจากที่นำกลับไปใช้ไม่นาน

ตรวจเช็คสภาพ และหากพบปัญหาที่ชิ้นส่วนใด ก็ซ่อมเฉพาะชิ้นนั้นๆ เป็นการนำเร็กกูเลเตอร์มาให้ช่างตรวจเช็คการทำงานพื้นฐาน เพื่อดูว่าสามารถใช้งานได้ปกติหรือไม่ โดยไม่ได้ถอดชิ้นส่วนออกมาทำความสะอาด (ไม่มีการ Overhaul) ช่างจะทำการตรวจสภาพโดยรวมให้ก่อน และหากพบปัญหาหรือพิจารณาแล้วเห็นว่ามีแนวโน้มที่จะมีปัญหาในระยะเวลาอันใกล้ ก็จะซ่อมหรือเปลี่ยนเฉพาะชิ้นนั้นๆ เช่น เร็กกูเลเตอร์เริ่มไม่สามารถควบคุมแรงดันขั้นกลางได้, มีเสียงลมรั่วจากSecond Stage, มีลมรั่วจาก Pressure Gauge หรือ สภาพสายต่างๆ เริ่มมีการแตกร้าว เป็นต้น

ข้อดีคือ

ค่าใช้จ่ายน้อย เป็นค่าบริการในการตรวจเช็คสภาพ นอกจากนั้นก็เป็นค่าอะไหล่ตามชิ้นที่เปลี่ยน ข้อเสียคือ อุปกรณ์ส่วนที่ไม่มีอาการเสียปรากฏและช่างพิจารณาแล้วว่า ยังไม่จำเป็นต้องซ่อม ก็อาจมีการเสื่อมสภาพลงไปจนมีปัญหาในการใช้งานได้ ทำให้การรับประกันงานซ่อม จำกัดแค่เฉพาะชิ้นที่ซ่อมเท่านั้น ไม่สามารถรับประกันเร็กกูเลเตอร์ทั้งชุดได้

สายอากาศ ชิ้นส่วนที่เราอาจคาดไม่ถึง นอกจาก first stage และ second stage ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่ทำงานกับแรงดันอากาศโดยตรงแล้ว อีกชิ้นส่วนหนึ่งที่เรามักจะไม่ทันนึกถึงว่ามีผลต่อการทำงานของชุดเร้กกูเลเตอร์ด้วยเช่นกัน ก็คือสายอากาศ (hose) ที่พาอากาศจาก first stage ไปยังจุดที่ใช้อากาศจริงๆ

ปกติสายอากาศเหล่านี้จะมีอายุการใช้งานยาวนานอย่างน้อยก็ 2-3 ปี ข้อควรระวัง คือ ไม่ว่าจะเลือกรับบริการเร็กกูเลเตอร์แบบใด ก็ไม่รวมถึงตัวสายอากาศซึ่งจะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อเริ่มเห็นว่ามีสภาพไม่สมบูรณ์ ดังนั้น หากช่างไม่พบสภาพผิดปกติที่ตัวสายอากาศ และไม่ได้เปลี่ยนให้ แล้วไปแสดงอาการในทริปพอดี ก็อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาจากสายอากาศเหล่านี้ ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ (เช่น มีอากาศรั่วออกจากสายเล็กน้อยระหว่างดำน้ำ เป็นต้น) และมักจะมีอาการให้เรารับรู้ล่วงหน้าเสมอ

ข้อเสียของการไม่ Service Regulator

  • อาจพบปัญหาของเร็กกูเลเตอร์ในระหว่างทริปดำน้ำ ทำให้ไม่ได้ใช้อุปกรณ์ของตัวเอง หรือแย่สุดคือไม่ได้ลงดำน้ำ หากไม่มีอุปกรณ์สำรองให้ใช้แทน
  • คราบเกลือเกาะติดที่ชิ้นส่วนต่างๆ จะกัดกร่อนผิวของเร็กกูเลเตอร์ หรือสะสมมากในบางจุด เมื่อเกาะติดเป็นเวลานานจะทำให้ชิ้นส่วนต่างๆ ติดกันแน่นเกินไป เมื่อมีความจำเป็นต้องถอดซ่อม เช่นมีอากาศรั่ว ต้องเปลี่ยนโอริง หรืออื่นๆ อาจจะต้องใช้แรงมากในการถอด และทำให้อุปกรณ์ชิ้นนั้นแตก หัก เสียหาย ถึงขั้นที่อาจจะไม่สามารถใช้งานได้อีกเลย

คำแนะนำเพิ่มเติม

  • หากเร็กกูเลเตอร์มีคราบเกลือเกาะเป็นจำนวนมาก และคุณมีแผนว่าจะพักการดำน้ำเป็นเวลานาน ควรส่งมา overhaul ก่อนเก็บ เพราะการเก็บไว้นานๆ จะทำให้คราบเกลือยิ่งแข็งและเกาะแน่น ทำให้ไม่สามารถถอดชิ้นส่วนนั้นๆ ออกมาในภายหลังได้
  • หากไม่ได้ใช้เร็กกูเลเตอร์นานกว่า 1 ปี ควรนำมาตรวจสอบสภาพ ก่อนการใช้งานครั้งต่อไป
  • หากซื้อเร็กกูเลเตอร์มือสองมาใช้งาน และไม่ทราบประวัติการเปลี่ยนอะไหล่ ควรส่ง overhaul + เปลี่ยนอะไหล่ด้วย service kit ครบชุด เหมือนเป็นการนับหนึ่ง เริ่มต้นการใช้งานใหม่

สรุปข้อดีข้อเสียของการ Service Regulator แต่ละแบบ

สรุป

 ⦁ Regulator สามารถนำมารับการ service ได้ 3 รูปแบบ คือ
⦁ ถอดล้างทำความสะอาด (overhaul) และเปลี่ยนอะไหล่ตาม Service Kit ค่าใช้จ่ายสูงกว่าแบบอื่น แต่มั่นใจในการใช้งานได้
⦁ ถอดล้างทำความสะอาด (overhaul) และเปลี่ยนอะไหล่เฉพาะชิ้นที่เสื่อมสภาพ แม้อาจจะยังไม่มีปัญหาชัดเจน แต่หากพบว่าเสื่อมสภาพมากแล้วหรือหมดอายุการใช้งานแล้ว ก็จะเปลี่ยนอะไหล่ชิ้นนั้น ค่าใช้จ่ายถูกกว่า ความมั่นใจในการใช้งานขึ้นอยู่กับการเลือกศูนย์บริการ
⦁ ตรวจเช็คและซ่อมเฉพาะอุปกรณ์ชิ้นที่มีปัญหา ข้อดีคือ ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก แต่อะไหล่ชิ้นอื่นที่ยังไม่พบปัญหา ไม่ได้รับการถอดล้างหรือเปลี่ยนอะไหล่ไป ก็อาจมีปัญหาตามมาในภายหลังได้

Previous articleทำไมทุกคนถึงกลัว ปลาวัว
Next articleคอร์สเรียน Advanced Adventurer ( นักดำน้ำผจัญภัย ขั้นสูง )